เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ต้องรีบยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ จพท. หากล่วงเลยระยะเวลายื่นหรือไม่ได้ยื่น เจ้าหนี้ย่อมหมดโอกาสได้รับชำระหนี้ และหากต่อมาลูกหนี้ได้รับการปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย หนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ที่มีอยู่ก็เป็นอันระงับไป
สาระสำคัญ
ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกพิพากษาให้ล้มละลายได้ และเมื่อเจ้าหนี้ของลูกหนี้คนใดคนหนึ่งฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ศาลก็จะพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกพิพากษาว่าล้มละลายได้หรือไม่ หากลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรืออยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกพิพากษาว่าล้มละลาย ศาลก็จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่จะมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยลูกหนี้หมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ทั้งนี้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้ามาจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำรายได้ของลูกหนี้มาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามสัดส่วนของเจ้าหนี้แต่ละราย ***และเมื่อศาลพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ก็หมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไปเสียทีเดียว ***
- เจ้าหนี้ประเภทใดบ้างต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
เจ้าหนี้ที่มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย คือ เจ้าหนี้ทุกประเภท ไม่ว่าตนจะได้ฟ้องลูกหนี้ไว้แล้ว หรือศาลพิพากษาให้ตนชนะคดีแล้ว หรือเจ้าหนี้ธรรมดาที่ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือหนี้ของตนยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ทุกประเภทก็ต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
- การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายทำอย่างไร
เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ที่กรมบังคับคดี) ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่หากเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นภายใน 4 เดือน หากไม่ได้ยื่น เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้
ทำอย่างไรถ้ายื่นขอรับชำระหนี้ไม่ทัน
หากยื่นขอรับชำระหนี้ไม่ทัน เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำร้องต่อศาล (ล้มละลาย) เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งต่อไป โดยศาลจะส่งหมายแจ้งวันนัดไต่สวนไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ผู้ร้องต่อไป
ใส่ความเห็น