62 ซ.สุขาประชาสรรค์ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

klaitanai.lawyer@gmail.com

ถูกฟ้องเป็นจำเลย/ได้รับหมายศาล

ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่ง

ในกรณีที่ท่านถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่ง ไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด ท่านต้องไปศาลในวันนัดพิจารณาเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วศาลจะพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี (เพราะไม่มีประเด็นข้อต่อสู้ของท่านให้พิจารณา) และมีความจำเป็นที่ท่านจะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดี โดยคำให้การต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับประเภทคดีว่าท่านถูกฟ้องในคดีประเภทอะไร หากถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีมโนสาเร่ (คดีมีทุนทรัพย์พิพาทกันไม่เกิน 300,000 บาท และคดีฟ้องขับไล่ออกจากอสังหา ฯ มีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท) ท่านมีสิทธิยื่นคำให้การในชั้นพิจารณา โดยจะให้การด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ แต่หากถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งสามัญ ท่านจะต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 15 วัน นัับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง และคำให้การจะต้องชัดแจ้ง ไม่ขัดแย้งกันเอง มิฉะนั้นแล้วจะถือว่าท่านขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวโดยอาจพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ในคดีแพ่ง ขอไกล่เกลี่ยดีไหม ?

ในคดีแพ่ง คู่ความทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาตามยอมได้ เป็นการตกลงกันโดยอาศัยความสมัครใจของคู่ความทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากท่านเป็นจำเลย ท่านจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะหากท่านไปตกลงยอมชำระหนี้โดยขอผ่อนชำระเป็นจำนวนเงินสูงกว่าความสามารถที่ท่านจะชำระหนี้ไหว เมื่อท่านผิดนัดแม้งวดเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็จะบังคับคดีแก่ท่านทันที นอกจากนี้ ท่านต้องดูเงื่อนไขในข้อสัญญาอื่น ๆ ให้ดี เพราะถ้าหากการสู้คดีจะเป็นประโยชน์มากกว่า เช่น อีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าเสียหายสูงเกินไปโดยไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือคดีของอีกฝ่ายหนึ่งขาดอายุความ หรือท่านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรืออีกฝ่ายหนึ่งมีส่วนผิดอยู่ด้วย ท่านก็ควรตั้งทนายความ      มาสู้คดีจะเป็นประโยชน์กว่ามากกว่า เพราะมีโอกาสสูงที่ท่านอาจจะชนะคดีและไม่ต้องรับผิดเลย หรือแม้แต่ท่านจะแพ้คดี แต่ยอดเงินที่จะต้องชำระตาม         คำพิพากษาก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นจำนวนเงินต่ำกว่าที่ท่านไปตกลงกับคู่กรณีอยู่มาก และประการสำคัญคือการไกล่เกลี่ยกัน เมื่อศาลพิพากษาตามยอม        คำพิพากษายอมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ซึ่งโดยหลักแล้วต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทำให้ท่านเสียหายเป็นอย่างมาก แตกต่างจากการสู้คดีที่หากต่อให้คำพิพากษาศาลล่างจะไม่สมประโยชน์แก่ท่าน ท่านก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไปได้ 

ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา

ในคดีอาญา หากไม่ใช่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ และท่านจะได้รับหมายศาลแจ้งนัดไต่สวนมูลฟ้องเพื่อที่ท่านจะได้มีโอกาสคัดค้านหรือตั้งทนายไปถามค้านพยานโจทก์ และหากคดีไม่มีมูล ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีก็จะเสร็จการพิจารณาไปในศาลชั้นต้นทันที แต่หากท่านไม่ได้ตั้งทนายความไปถามค้านพยานโจทก์ เมื่อไต่สวนมูลฟ้องและศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องโจทก์ ท่านก็จะอยู่ในฐานะจำเลย ในวันนัดพิจารณา (นัดสอบคำให้การ) หากท่านประสงค์จะต่อสู้คดี ท่านก็จะต้องวางหลักทรัพย์ทำเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ต่อศาล ซึ่งจะเป็นการเสียหายและเสียเวลาตต่อท่านเป็นอย่างมาก  ดังนั้น หากได้รับหมายศาลในคดีอาญา ทนายจึงแนะนำให้ท่านตั้งทนายความเพื่อสู้คดีตั้งแต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโดยเร็วที่สุด เพราะในหลาย ๆ คดี การกระทำของท่านก็ไม่เข้าข่ายความผิดอาญา แต่อาจเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น หรือโจทก์อาจไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย


ได้รับหมายศาล/หมายเรียกในชั้นสอบสวน

เบลหน้า

  เมื่อได้รับหมายศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด ท่านต้องไปศาลตามหมายทุกคั้งเพื่อรักษาสิทธิของท่านเอง โดยต้องตั้งทนายความหรือปรึกษาทนายความโดยเร็วเพื่อยื่นคำให้การและสู้คดีต่อไป เพราะในหลาย ๆ คดี จำเลยมักจะไม่ไปศาล ถ้าเป็นในคดีแพ่ง ศาลจะพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจนมีคำพิพากษา ในที่สุดโจทก์ก็ทำการยึดทรัพย์สินของท่าน เดือนร้อนทั้งตัวท่านและบุคคลในครบครัว ถึงตอนนั้นก็สายเกินไปแล้วที่ท่านจะต่อสู้คดีเพราะคดีได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนั้น ควรปรึกษาทนายความหรือตั้งทนายความเพื่อสู้คดีโดยเร็วที่สุด ต่อให้ท่านเป็นฝ่ายผิดจริง อย่างน้อยก็จะมีที่ปรึกษาคอยช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับฝ่ายโจทก์ได้ มิให้ต้องถึงขั้นมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของท่าน

 

สำหรับในคดีอาญา หากท่านไม่ไปศาล ศาลก็จะออกหมายจับ ทำให้ปรากฏประวัติสารบบข้อมูลกลาง อีกทั้งการไปศาลก็มีความสำคัญมาก เพราะหากได้มีการตั้งทนายความถามค้านพยานโจทก์ตั้งแต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ก็มีโอกาสที่ศาลจะยกฟ้องโจทก์ได้ตั้งแต่แรก และคดีในส่วนนั้นก็จบไปทันทีเพราะเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็เป็นอันระงับไป

 

สำหรับหมายเรียกของพนักงานสอบสวน เมื่อท่านไม่ไปให้การในชั้นสอบสวนตามหมายเรียก 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะทำการออกหมายจับ ทำให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสียประวัติแก่ท่าน อีกทั้งในชั้นสอบสวน ท่านมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ควรตั้งทนายความหรือได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายว่าคดีของท่านควรจะให้การอย่างไร


ได้รับหนังสือร้องเรียน/กล่าวโทษ

หากท่านทำงานในหน่วยงานราชการและได้รับหนังสือร้องเรียน ถ้าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือถูกกลั่นแกล้ง ท่านต้องรวบรวมหลักฐานเพื่อให้ถ้อยคำและชี้แจงในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หากผลการพิจารณาส่งผลกระทบต่อท่านหรือตำแหน่งหน้าที่งานของท่าน ก็มีความจำเป็นที่ท่านจะต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวเสียก่อนต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ (แตกต่างกันไปตามลักษณะของหน่วยงาน) เมื่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน ท่านก็ต้องดำเนินการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองต่อศาลปกครองที่มีเขตอำนาจต่อไป