คดีกู้ยืมเงิน
ต้องมีการส่งมอบเงินให้แก่กัน ส่งมอบเท่าใด ฟ้องได้เท่านั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 บัญญัติว่า “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม “
การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สินเปลืองอย่างหนึ่ง จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ.มาตรา650 วรรคสอง ที่สัญญากู้ยืมเงินจะบังคับกันได้ก็ต่อเมื่อส่งมอบเงินให้แก่กัน การส่งมอบเงิน จะส่งมอบไว้ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงินแล้วหรือส่งหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินกันก็ได้ อาจจะเป็นการส่งมอบเงินกันโดยตรง หรือเปลี่ยนจากหนี้อื่นมาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินก็ได้ ดังนั้น ถ้าไม่มีการส่งมอบเงินให้แก่กันหรือเปลี่ยนมาจากหนี้อื่น เช่น หนี้ค่าซื้อสินค้า หนี้เงินแชร์ แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญากู้ยืมเงินที่แปลงมาก็ไม่สามารถบังคับกันได้เพราะไม่มีมูลหนี้เดิม
ตัวอย่างจากบรรทัดฐานศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1557/2524 จำเลยตกลงเขียนสัญญากู้ให้แก่โจทก์ แล้วตกลงว่าจะใช้เงินตามสัญญาให้โจทก์ หากไม่สามารถนำบุตรโจทก์ไปทำงานต่างประเทศได้ตามที่สัญญากัน ต่อมาเมื่อบริษัทจัดหางานไม่สามารถส่งบุตรโจทก์ไปทำงานต่างประเทศได้ จำเลยต้องรับผิดใช้เงินให้แก่โจทก์ (ถือว่ามีมูลหนี้เกิดขึ้นแล้ว)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2513 โจทก์ให้จำเลยยืมเงิน 500 บาท เขียนสัญญา 2 ฉบับ ฉบับแรกเขียนตามจริง อีกฉบับเขียนว่ายืมกัน 20,000 บาท ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จะเอาสัญญากู้ฉบับหลังมาฟ้องไม่ได้ (เพราะไม่มีมูลหนี้ตามสัญญาฉบับหลัง)
อายุความ
ปกติคือ 10 ปี (ป.พ.พ.มาตรา 193/30) แต่อายุความเรียกดอกเบี้ยค้าชำระ มีกำหนด 5 ปี (ป.พ.พ.มาตรา 193/33(1)) แต่ถ้าสัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดเวลาผ่อนชำระเป็นงวด ๆ มีอายุความ 5 ปี งวดใดเกิน 5 ปี = ขาดอายุความเฉพาะงวดที่เกิน กรณีถูกฟ้อง ต้องให้การยกเรื่องอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เสมอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 134/2551 สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน เมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2)
แต่หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด มีอายุความ 2 ปี เพราะไม่ใช่เรื่องการกู้ยืมเงิน (ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/50)
3.หลักฐานการกู้ยืมเงิน
การกู้ยืมเงิน เพียงแต่ตกลงกันก็สมบูรณ์ แต่หากจะต้องมีการฟ้องคดี สำหรับการกู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไป จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม มิฉะนั้น จะฟ้องคดีไม่ได้หลักฐานเป็นหลังสือจะมีเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีตอนทำสัญญากู้ แต่จะต้องมีก่อนยื่นฟ้องคดี
***ไม่มีหลักฐานเป็นหลังสือ แต่ มีแชทผ่านเพซบุ๊ค ผ่านไลน์ ผ่านเมลล์ หรือสื่อต่าง ๆ พร้อมสลีปโอนเงินหรือรายการเดินบัญชี ก็สามารถฟ้องได้ เพราะถือว่ามีหลักฐานเป็นหลังสือแล้ว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฯ ดังนั้น ถ้าตอนยืมไม่มีหลักฐาน แต่หากหลังจากนั้นมีการทักไปทวงถามและมีแชทของลูกหนี้ที่อ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นหนี้กันจริง ก็เอาหลักฐานแชทนั้นมาเป็นหลักฐานฟ้องคดีได้
ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักฐานการกู้ยืมเงิน
1.ลงแต่ลายมือชื่อผู้ยืม แม้ผู้ให้ยืมไม่ได้ลงชื่อก็ฟ้องได้
2.ทำสัญญากู้แล้วมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือไว้ได้จนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ครบ แต่จะบังคับเอาที่ดินไม่ได้ เพราะไม่มีการจดทะเบียน ไม่ถือว่าเป็นการจำนอง แต่ ถ้าการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหลังสือ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยึดโฉนด ลูกหนี้ฟ้องเรียกคืนได้
3.ลูกหนี้ไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้กู้ แต่ลงชื่อในช่องพยาน หรือที่อื่น ก็ถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินแล้ว และจะลงเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่นก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2530 จำเลยเขียนจดหมายขอยืมเงินโจทก์ ลงชื่อเล่นท้ายจดหมาย ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตาม ป.พ.พ.มาตรา 653 แล้ว
หลักฐานการกู้ยืมเงินที่มีการแก้ไข
แก้ไขขณะทำสัญญากู้
แก้ไขขณะทำสัญญากู้ แม้ไม่ได้ลงชื่อกำกับไว้ก็บังคับกันได้
ยืมเงินกันใหม่ โดยแก้ไขสัญญากู้ฉบับแรก
2.1 กรณีผู้กู้อยู่รู้เห็นด้วย กรณีกู้ยืมเงินกันอีกโดยไม่ได้ทำสัญญากันใหม่ แต่ใช้วิธีการขีดฆ่าตัวเลขจำนวนเงินในสัญญาเดิม โดยผู้กู้รู้เห็นด้วยแต่ไม่ได้ลงชื่อที่มีการแก้ไข ถือว่าการยืมเงินครั้งหลังไม่มีหลักฐานเป็นหลังสือ ฟ้องได้เพียงเท่ายอดเงินในการกู้ครั้งแรก
2.2 กรณีผู้กู้ไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ถือว่าสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม การกู้ยืมเงินครั้งหลังใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สัญญากู้เดิมก่อนแก้ไขยังคงใช้ได้ เจ้าหนี้ฟ้องให้รับผิดตามสัญญากู้เดิมได้ แต่จะฟ้องรวมทั้งหมดไม่ได้ ลูกหนี้ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1492/2563 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท ต่อมามีการแก้ไขเป็น 150,000 บาท โดยจำเลยไม่รู้ด้วย เป็นเอกสารปลอม ฟ้องได้เพียง 20,000 บาท
3.กรณีที่ลูกหนี้ลงชื่อในสัญญากู้ลอยๆไว้โดยยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วเจ้าหนี้มาเขียนตัวเลขเองในภายหลัง
3.1เจ้าหนี้เขียนมากกว่าจำนวนเงินที่กู้กันจริง สัญญากู้เป็นเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ ไม่มีอำนาจฟ้องให้ลูกหนี้รับผิดได้ทั้งจำนวน (คือ ฟ้องอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ฟ้องตามจำนวนที่กู้จริงก็ไม่ได้)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2565 จำเลยลงชื่อในสัญญากู้ที่ยังไม่กรอกข้อความ โจทก์กรอกข้อความและจำนวนเงินเกินจริงในภายหลังจึงเป็นเอกสารปลอม ถือว่าไม่มีหลีกฐานเป็นหลังสือ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ (กรณีนี้ หากลูกหนี้มอบอะไรให้ไว้ เช่น มอบโฉนด มอบทะเบียนรถให้เจ้าหนี้ยึดไว้ ก็ฟ้องคืนได้)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13707/2558 โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ 100,000 บาท ทั้งที่กู้กันจริงเพียง 10,000 บาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยได้
3.2 เจ้าหนี้กรอกจำนวนเงินตามจริง สัญญากู้ยืมเงินใช้บังคับได้ตามจำนวนมีการยืมกัน ไม่เป็นเอกสารปลอม
4. สัญญากู้ที่เขียนรวมต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ แต่ดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือน (หรือเกินร้อยละ 15 ต่อปี) ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ฟ้องได้เพียงต้นเงิน
ค้ำประกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่
สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันด้วยตัวบุคคล ต้องมีลายมือชื่อผู้ค้ำ
การค้ำประกัน เป็นการก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ค้ำประกันโดยที่ผู้ค้ำไปไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น ทางดีที่อย่าเข้าค้ำประกันบุคคลใดเป็นอันขาด โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิดสนิทสนม เพราะมีแต่บุคคลเหล่านี้ที่ส่วนใหญ่แล้วจะนำปัญหามาให้คุณ แต่ในทางกลับกัน หากคุณเป็นเจ้าหนี้ ถ้าจะต้องปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลใด ก็ควรที่จะต้องให้บุคคลนั้นหาประกันมาให้ไว้เพื่อเป็นหลักในการบังคับต่อไป อาจเป็นการค้ำประกัน จำนอง หรือจำนำก็ได้
สัญญาค้ำประกันจะต้องมีลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน ระบุสาระสำคัญว่าค้ำประกันบุคคลใด ยอดเงินเท่าใด หากไม่มีลายมือชื่ผู้ค้ำ เจ้าหนี้ก็ไม่อาจฟ้องให้ผู้ค้ำรับผิดได้
หนี้ที่จะค้ำประกันได้ต้องเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ หากนี้ไม่สมบูรณ์ เช่น เป็นหนี้ผิดกฎหมาย ผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิด และสัญญาค้ำประกันจะทำในภายหลังก็ได้ ไม่ต้องทำพร้อมกับมูลหนี้ประธาน
การฟ้องคดี เจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน หากผู้ค้ำประกันยังไม่ได้รับหนังสือ จะฟ้องผู้ค้ำประกันไม่ได้
เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายหลังลูกหนี้ผิดนัดแล้ว การบอกกล่าวไปก่อนลูกหนี้ผิดนัด ไม่มีผลเป็นการบอกล่าว (ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1048/2565)
อายุความฟ้องผู้ค้ำประกัน มีกำหนด 10 ปี แต่ถ้าผู้ค้ำประกันตาย ต้องฟ้องทายาทภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าผู้ค้ำประกันตาย (ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม)
สิทธิของผู้ค้ำประกันหลังจากถูกฟ้องคดี
– สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้
ผู้ค้ำประกันมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าเสียหายจากการที่ตนถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 แต่จะใช้สิทธินี้ได้ จะต้องเป็นเรื่องที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไปแล้ว ถ้าเพียงแต่ผู้ค้ำประกันตกลงจะชำระหนี้แทนลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันยังไม่มรสิทธิเรียกคืนจากลูกหนี้ และอายุความฟ้องไล่เบี้ยกรณีนี้ มีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ผู้ค้ำประกันตาย สัญญาค้ำประกันไม่ระงับ
แม้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หลังผู้ค้ำประกันตายก็ไม่ทำให้สัญญาค้ำประกันระงับ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมตกทอดไปยังทายาทของผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้ แต่เจ้าหนี้ไม่รับ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 701 ทั้งนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องวางทรัพย์สินใดๆ เพื่อชำระหนี้อีก แต่ข้อสำคัญคือ ต้องเป็นการขอชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนด ถ้าหนี้ถึงกำหนดไปแล้วและเจ้าหนี้ฟ้องแล้ว การที่ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้ในชั้นศาลบางส่วน แม้เจ้าหนี้ไม่รับ ู้ค้ำประกันก็ไม่หลุดพ้นความรับผิด
จำนอง
จำนองคืออะไร ทำอย่างไร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา มาตรา 702 บัญญัติว่า “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นการประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้น ให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้อง”
สาระสำคัญ
การจำนองเป็นการประกันด้วยทรัพย์สิน สิ่งที่จำนองได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ (เรื่อมีระวาง 5 ตันขึ้นไป แพ สัตว์พาหนะ) และสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติให้จดทะเบียน เช่น เครื่องจักร เครื่องบิน (ป.พ.พ.มาตรา 703) นอกเหนือจากนี้ไม่อาจจำนองได้ แต่จำนำได้ และต้องระบุว่าเอาทรัพย์ใดเป็นทรัพย์จำนอง
การจำนอง ไม่ต้องส่งมอบทรัพย์จำนอง แต่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหนี้ที่ แตกต่างจากจำนำที่ต้องส่งมอบทรัพย์จำนำ
ผู้จำนอง จะเป็นลูกหนี้หรือเป็นบุคคลอื่นก็ได้
สัญญาจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ ต้องมีหนี้ประธานที่สมบูรณ์เสียก่อน สัญญาจำนองจึงจะสมบูรณ์
สัญญาจำนองเป็นทรัพยสิทธิ แม้หนี้เดิมขาดอายุความแล้ว จำนองก็ไม่ระงับสิ้นไป แม้เจ้าหนี้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีแล้ว แต่จำนองก็ยังมีอยู่และเจ้าหนี้ใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้
จำนองทรัพย์สินประกันหนี้บุคคลอื่น แล้วถูกบังคับจำนองไปแล้ว มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้รับผิดได้เพียงใด
กรณีนี้ หากจะมีการบังคับจำนอง ผู้จำนองกลัวว่าจะต้องเสียทรัพย์จำนองไปเพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ดิน เป็นทรัพย์ที่มีมูลค่า บางกรณีก็เป็นทรัพย์ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หากไม่ต้องการให้มีการบังคับจำนอง ผู้จำนองจำเป็นที่จะต้องชำระหนี้แทนลูกนี้ไป เมื่อชำระไปครบแล้วก็มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้รับผิดได้ตามจำนวนที่ตนได้ชำระไป
แต่ ถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีการชำระหนี้ และมีการบังคับจำนองขายทอดตลาด ผู้จำนองจะมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้รับผิดเพียงเท่่าที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนอง เช่า ที่ดินราคา 1 ล้าน เจ้าหนี้ดำเนินการฟ้อง + บังคับคดีเสีค่าใช้จ่ายไป 100,000 บาท เมื่อขายได้จึงนำราคามาหัก เท่ากับเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนอง 900,000 บาท ผู้จำนองซึ่งเสียที่ดินไปแล้วก็มีสิทธิไล่เบี้ยลูกหนี้เพียง 900,000 บาท เท่านั้น
การจำนองเพื่อประกันหนี้บุคคลื่น ไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดเกินทรัพย์จำนอง หมายความว่า แม้บังคับจำนองแล้ว หนี้ของลูกหนี้ก็ยังมีอยู่ ในส่วนที่เหลือ ผู้จำนองก้ไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป
กรณีจำนองทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้ของตนเอง หากมีการบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่ครบ ยังต้องรับผิดในส่วนที่เหลือหรือไม่
ตามปกติแล้ว หากมีการบังคับจำนอง เจ้าหนี้ได้เงินเท่าไหร่ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เหลืออีก เช่น กู้ยืมเงิน 1 ล้านบาท จำนองบ้านราคา 900,000 บาท ต่อมาผิดสัญญากู้ยืมเงิน เจ้าหนี้ฟ้องบังคับจำนองขายบ้านได้ 900,000 บาท ยังคงเหลือหนี้อีก 100,000 บาท ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เหลืออีกต่อไป ตาม ป.พ.พ.มาตรา 733 อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวสามารถตกลงยกเว้นกันได้ หมายความว่า ถ้าในสัญญาจำนองมีจข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้แล้ว เงินยังไม่ครบจำนวนหนี้ ลูกหนี้จะต้องรับผิดต่อไปจนกว่าจะครบ กรณีนี้ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดเต็มจำนวน
ซื้อทรัพย์สินติดจำนอง ทำอย่างไร ?
การซื้อทรัพย์สินติดจำนอง แม้จะเป็นการซื้อจากการขายทอดตลาด หรือตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และไม่ปรากฏสารบาญเอกสารว่ามีจำนอง หากต่อมามีการพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นติดจำนอง จำนองนั้นก็ต้องตกติดมากับผู้ซื้อทรัพย์จำนองนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อทรัพย์จำนองมีสิทธิดังนี้
1.มีสิทธิไถ่ถอนจำนอง หากเจ้าหนี้จะบังคับจำนอง เจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองมายังผู้ซื้อทรัพย์ติดจำนองก่อน ไม่น้อยกว่า 60 วัน จึงจะบังคับได้ (ป.พ.พ.มาตรา 735) และผู้รับโอนต้องไถ่ถอนจำนองภายใน 60 วัน แต่ถ้าไม่มีหนังสือบอกกล่าวมา ผู้ซื้อทรัพย์จำนอนจะไถ่เสียเมื่อใดก็ได้
2. การไถ่ทรัพย์จำนอง ผู้ซื้อทรัพย์ติดจำนองต้องเสนอราคา โดยราคานั้นเป็นราคาพอสมควรกับราคาทรัพย์สินที่ติดตำนอง ไม่ต้องใช้เงินเต็มตามหนี้จำนอง เพราะผู้ซื้อไม่ใช่ลูกหนี้ และเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วก็มีสิทธิรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้จำนอง ไปฟ้องให้ลูกหนี้ใช้เงินให้แก่ตนได้
จำนำ
จำนำคืออะไร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 บัญญัติว่า “อันว่าจำนำนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้”
การจำนำ จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ให้แก่กันโดยมีเจตนาเพื่อประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือ และผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนำ ผู้รับจำนำมีสิทธิยึดของที่จำนำไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
การบังคับจำนำ ?
ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันควร หากไม่มีการชำระหนี้ภายในกำหนด ผู้รับจำนำก็เอาทรัพย์จำนำออกขายได้ (โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล สามารถบังคับได้เอง) แต่ต้องขายทอดตลาด (ขายโดยวิธีประมูล) และต้องมีจดหมายแจ้งให้ผู้จำนำทราบว่าจะขายที่ใด เวลาใด เพื่อให้โอกาสผู้จำนำไถ่ถอนจำนำ
บังคับจำนำแล้ว ลูกหนี้ยังต้องรับผิดอีกหรือไม่ ?
การบังคับจำนำ เมื่อบังคับแล้ว หากได้เงินเกินจำนวนหนี้ ก็ต้องคืนให้ลูกหนี้ในส่วนที่เกิน แต่ถ้าได้เงินไม่ครบ ลูกหนี้ยังต้องรับผิดใช้หนี้ในส่วนที่เหลืออยู่ต่อไป โดยเ้จาหนี้ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล
สัญญาจำนำระงับ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 769อันจำนำย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ซึ่งจำนำเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ
(2) เมื่อผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ
การที่ผู้รับจำนำส่งทรัพย์คืน ไม่ว่ากรณีใด สัญญาจำนำก็ระงับ ไม่มีสิทธิบังคับจำนำได้อีก แม้ว่าผู้รับจำนำจะส่งคืนให้เพราะผู้จำนำขอเช่าก็ตาม.